แชมป์ชนแชมป์ รอบแชมเปี้ยนส์ ลีก By เลขาเดย์
  • 16 กันยายน 2019 at 18:49
  • 1273
  • 0

แชมป์ชนแชมป์ รอบแชมเปี้ยนส์ ลีก

 

เป็นเกมแห่งศักดิ์ศรี ทีมชั้นนำของ 6 โซนทั่วประเทศไทย 12 ทีมพี่ใหญ่จากทั่วทุกสารทิศ

 

“เหนือ,ใต้,ตะวันออก,ตะวันตก,อีสาน,กรุงเทพและปริมณฑล” 

 

หน้าเก่าเจ้าเดิม มี 6 สโมสร คาเดนซ่า สตูล ยูไนเต็ด(5สมัย),เมืองเลย ยูไนเต็ด(3สมัย)อุตรดิตถ์ เอฟซี(2สมัย),บ้านค่าย ยูไนเต็ด(2สมัย),หัวหิน ซิตี้(2สมัย),ปัตตานี เอฟซี(2สมัย)

 

หน้าใหม่ มี 6 สโมสร นครราชสีมา ห้วยแถลง ยูไนเต็ด,ม.ปทุมธานี,ชัยนาท ยูไนเต็ด,วัดโบสถ์ ซิตี้,เกาะขวาง เอฟซี,ม.ธนบุรี    3 ทีมท้ายต้องบอกว่าเป็นทีมที่เพิ่งได้เลื่อนชั้นมาเมื่อต้นปีนี้เอง ถือว่าฟอร์มดีสุดๆ และสร้างประวัติศาสตร์สโมสรได้สำเร็จ

                                            (แฟนบอลเมืองเลย ยูไนเต็ด ปี 2018)

ในรอบประเทศนี้ ที่เราเรียก “ชปล2019” หรือ “แชมเปี้ยนส์ลีก” ที่จะเตะหลังลีกปกติจบ เพื่อหาตัวแทนตามโซนต่างๆ เพื่อคัดเลือกทีมที่ดีที่สุดในปีนี้ 4 ทีม เพื่อเลื่อนชั้นสู่ T3 ในฤดูกาลหน้า

 

“ชปล” มีมาตั้งแต่ลีกภูมิภาคเกิดครับ เมื่อปี 2010 อย่างเป็นทางการ แต่ 2009 ใช้ชื่อว่ารอบมินิ ลีก ก็ถือว่าลองชิมลางการแข่งแบบนี้มาก่อนแล้ว เพียงแค่จำนวนทีมยังไม่ได้กระจายทั่วประเทศ เป็นทีมที่ส่งแข่งมาก่อนลีกภูมิภาคทางการจะตั้งขึ้น ถือว่า 2010 เริ่มอย่างเป็นทางการแล้วกันนะครับ 

 

รูปแบบจากเมื่อก่อนบอลยังไม่บูมเท่าปัจจุบัน การจัดการแข่งขันสมัยนั้น รอบ “ชปล” จะแข่ง เหย้า-เยือน รวม 10 นัด ตั้งแต่ปี 2010 จนกระทั่งปี 2016 หรือเรียกง่ายๆ ว่า เปลี่ยนยุค จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน เพิ่มโซนเป็น 8 โซน เอา 16 ทีม มาเตะน็อคเอ้าท์ จนถึงรอบ 4 ทีม และในหลวงสวรรคต ส.บอลจึงยุติการแข่งขัน จับสลากเลื่อนชั้นแทน ในปีนั้น เป็น ตราด เอฟซี,ม.เกษตรศาสตร์ และหนองบัว พิชญ ได้เลื่อนชั้นขึ้น T2 

 

และได้ก่อตั้งลีก T3 ขึ้นมาอีก เพื่อคัดกรองอีกหนึ่งลีก สำหรับทีมที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน โดยเอาทีมท็อปจากปี 2016 อันดับ 1-4 บางโซนถึงอันดับ 5 มาเล่น T3 ในปี 2017 เป็นปีแรก *** T3 ขอยังไม่กล่าวลงรายละเอียดนะ

 

หลายๆ ทีม ล้มหาย ขอพักกันไป เนื่องด้วยสถานการณ์การเมือง(ฟุตบอล) ไม่คงที่ บ้างอ้างว่าแนวทางไม่ชัดเจน บ้างก็ถอดใจ เพราะมีการผลัดเปลี่ยนการบริหารงานสมาคม จบปี 2017 ทีม T3 ขอพัก เช่น อำนาจเจริญ,พะเยา เอฟซี 

 

ปี 2017 กลับมาเหลือ 6 โซนอีกครั้ง เพราะผู้บริหารคิดว่าจะลดการเดินทางในโซนให้แคบลง แต่นั่นทำให้จำนวนทีมน้อยลง เมื่อแยกลีก T3 ออกไปเกือบ 30 ทีม  

ต้องซาวด์เสียง และกลับมาเป็นแบบเดิมที่ลงตัว และคุ้นเคยอยู่แล้ว

                                            (นอร์ทกรุงเทพ ได้อันดับที่ 3 เลื่อนชั้นสู่ T3 ได้สำเร็จ ปี 2018)

ส่วนในรอบ “ชปล” ยังคงใช้ระบบน็อคเอ้าท์ เหย้า-เยือน แค่ 2 เกมจบ แล้วคัดออกไปเรื่อยๆ แต่เนื่องด้วยต้องการเติมทีมใน T3 จึงมีน็อคเอาท์แค่ 1 ครั้ง  จาก 12 เหลือ 6 ทีม แล้วคัดทิ้ง 1 ทีม เพื่อหาทีมเลื่อนชั้น 5 ทีม (งงว่าทำไมไม่เอาขึ้นไป 6 เลย จะเหลือเศษทำไม เพราะอย่างไร T3 ก็ยังไม่เต็ม ขาดๆหายๆเช่นเดิม) 

 

แต่ละปี จะมีปัญหาทุกปี เพราะหลายๆ คน นอกวงการ เห็นฟุตบอลเหมือนจะบูม ก็กระโดดลงมาขายฝัน การตลาดเก๊บ้าง จับเสือมือเปล่าบ้าง ตามที่เคยได้ยินตามหน้าสื่อเรื่องค้างเงินเดือน ยุบทีมไปก็หลายทีม ค้างค่าจ้างนักเตะนอก แข้งฟ้องฟีฟ่าสั่งจ่ายกัน ระดับหลักล้าน จนถึง 80 กว่าล้านก็ยังมี สุดท้ายก็ยุบบริษัท ไปฟ้องร้องกันเอาเอง 

 

“นี่คือเรื่องจริง” คนที่เหลืออยู่ทุกวันนี้ คนบ้าทั้งนั้น .. เพราะทำบอลไม่มีกำไรหรอกในลีกล่าง .. 

                                                 (ขุนพลนอร์ทกรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว)

พอถึงปี 2018 “ชปล” กลับมาใช้ระบบเดิม เพราะสมาชิกเรียกร้องให้มีการแก้มือบ้าง ไม่ใช่ 2 นัด วัดผล เจอแค่ 1 ทีม มันขาดเสน่ห์ไป เลยกลับมาใช้ 12 ทีม แบ่ง 6 ทีม A B แต่ลดเหลือแค่ 5 เกม จับสลาก หาทีมเหย้า 3 เยือน 2 หรือ เยือน 2 เหย้า 3 ก็แล้วแต่ดวง แล้วก็กำหนดกลุ่มโซนบน(เหนือ,อีสาน,ตะวันออก) และโซนล่าง (กทม,ตะวันตก,ใต้) เพื่อให้เตะกันแค่ในกลุ่ม และเลื่อนชั้นชึ้น T3 ในโซนที่กำหนดไว้ จนถึงปัจจุบัน ปีนี้เลื่อนชั้น 3 ทีม และมีการเตะชิงแชมป์ประเทศ เพื่อมอบถ้วยที่สั่งทำมาแจกเป็นปีแรกอีกด้วย

 

จนมาในปี 2019 ปีนี้ .. กติกา คล้ายกับปี 2018 ทั้งหมด แต่ปีนี้ เลื่อนชั้น 4 ทีม คือ โซนละ 2 และก็เตะชิงแชมป์ประเทศ ใครไปคว้าถ้วย T4 ใบนี้ได้ ถือว่าเป็นสุดยอดทีมแล้วครับ เตะกันทั้งปี 1 เดียว จะได้สลักชื่อบนถ้วย เป็นลำดับที่ 2 ต่อจากปีที่แล้วครับ... 

 

นี่คือประวัติคร่าวๆ ของ รอบ “ชปล” อันสนุกสนาน ดราม่า ยักษ์ล้ม พลิกล็อค อะไรเกิดขึ้นได้หมด วัด H2H ลูกได้เสีย มีใช้กันมาครบ และที่สำคัญคือ มันเป็นท้องถิ่นนิยมจริงๆ บอลภาคใดจะเป็นเต้ยแห่งวงการลีกภูมิภาค นี่ก็ถือว่าครบ 10 ปี ก็ว่าได้ ..กับการมีฟุตบอลเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ... 

 

“ลีกล่างจงเจริญ” ที่เขียนมาทั้งหมด .. สื่อถึงความสำคัญ นักเตะหลายร้อย หลายพันคน เคยผ่านลีกนี้มาทั้งนั้น .. เพราะมันคือชั้นอนุบาล เพื่อเป็นเกี่ยวประสบการณ์ 

 

อยากจะฝากในท้ายที่สุดว่า ... “มองลีกล่าง ซึ่งเป็นฐานรากของทุกคนในประเทศ ให้การสนับสนุนเยอะๆ หนักๆ เต็มเหนี่ยวหน่อย เพราะฐานแฟนบอลหลักล้านแน่นอนถ้ารวมกันทุกทีม คิดเอาครับ ว่าจะทำให้มันโตไวกว่าที่เป็นอยู่อย่างไร และตัวเลือกที่จะต่อไปถึงยอดปิรามิด มันจะเยอะขึ้นตามไปเอง” 

 

#เลขาเดย์