Time Story : เทพอินทรี จากหนึ่งถึงศูนย์
  • 14 มกราคม 2020 at 03:10
  • 11359
  • 0

เส้นทางผจญภัยของ อุบล ยูไนเต็ด พวกเขาเริ่มก้าวจาก 1 ไปจนถึง 100 แต่สุดท้ายมีบางสิ่งฉุดตกลงไปกว่าจุดเริ่มต้น

กำเนิดเทพอินทรี

อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ที่นำโดย ประธานสโมสร คือ ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ปรากฎตัวครั้งแรกในช่วงปลายปี 2014 โดยได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยในฤดูกาล 2015 ถือเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพสโมสรที่ 2 ของจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น และแข่งขันในระดับดิวิชั่น 2 ร่วมกัน

 

ผู้สนับสนุนใหญ่ของสโมสรแห่งนี้ในขณะนั้น คือ มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น หรือยูเอ็มที(UMT) สถานศึกษาเอกชนชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ เป็นอธิการบดี นั่นเอง

 

สำหรับอีกหนึ่งสโมสรดั้งเดิมของจังหวัดอุบลราชธานี คือ อุบลราชธานี เอฟซี(ปัจจุบันคือ อุบล ครัวนภัส เอฟซี ในไทยลีก 3)ที่มี พงษ์ศักดิ์ มูลสาร นายกสมาคมกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรนั้น แต่เดิมนั้นเคยร่วมแข่งขันดิวิชั่น 2 โดยมี ยูเอ็มที เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน ในระหว่างฤดูกาล 2013-2014 โดยใช้ชื่อว่า "อุบล ยูเอ็มที เอฟซี"

 

อุบล ยูเอ็มที เอฟซี ขณะนั้น นอกจาก พงษ์ศักดิ์ มูลสาร ที่ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรแล้ว ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ยังได้เข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ร่วมกับ ดร.จินติยา จินารัตน์ บุตรสาว ที่รับหน้าที่ผู้จัดการทีม ถือเป็นทีมเจ้าบุญทุ่มทีมหนึ่งของดิวิชั่น 2

 

ในภายหลัง ดร.จินติยา จินารัตน์ ได้สละตำแหน่งผู้จัดการทีม โดยได้ ณรงค์ศักดิ์ คุรุภัณฑ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นรังเหย้าของทีม มารับหน้าที่แทน แต่ยูเอ็มที และ ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ยังให้การดูแลทีมเช่นเดิม

 

ในฤดูกาล 2014 อุบล ยูเอ็มที เอฟซี คว้าแชมป์ ดิวิชั่น 2 โซนตะวันออกเฉียงเหนือ ชนิดทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง อุดรธานี เอฟซี ถึง 12 แต้ม แต่พวกเขากลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในรอบแชมเปี้ยนส์ ลีก และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ ยูเอ็มที และ สโมสรประจำจังหวัดอุบลราชธานี จับมือกัน

 

 

มหาอำนาจคลื่นลูกใหม่

ฤดูกาล 2015 เกิดสโมสรอุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ขึ้นมาเป็นน้องใหม่ของ ดิวิชั่น 2 โซนตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้สิทธิ์แข่งขันในฐานะทีมนำร่อง ภายใต้การนำของ ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ประธานสโมสร, ดร.จินติยา จินารัตน์ รองประธานสโมสร พร้อมผู้บริหารไฟแรงรายอื่นๆ จากหลายภาคส่วน ขณะที่ อุบล ยูเอ็มที เอฟซี เดิมนั้น ยังคงแข่งขันภายใต้การนำของ พงษ์ศักดิ์ มูลสาร ประธานสโมสร โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็น "อุบลราชธานี เอฟซี" ในลีกและโซนเดียวกัน

 

น้องใหม่อย่าง อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด สร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศ เมื่อดึงโค้ชเนื้อหอมในขณะนั้นอย่าง จักราช โทนหงษา และ นพพร เอกศาสตรา มาคุมทัพ พร้อมผู้เล่นชั้นยอดจากทั่วสารทิศ นำโดยกลุ่มผู้เล่นจาก ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด สังกัดเก่าของ จักราช โทนหงษา ที่ตกชั้นลงมาจาก ดิวิชั่น 1

 

แต่เพียง 2 เดือนเท่านั้นหลังเปิดฤดูกาล จักราช โทนหงษา และ นพพร เอกศาสตรา ก็ต้องอำลาทีมเพื่อรับผิดชอบผลงาน ที่ติดชะงักอยู่เพียงกลางตาราง โดยกุนซือใหม่ของทีมฮือฮายิ่งกว่าเดิมคือ สกอตต์ คูเปอร์ ที่เคยคุม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด มาแล้วก่อนหน้านั้น

 

ในเลกที่ 2 ผู้เล่นชั้นดียังทยอยตบเท้าเข้าทีม นำโดย ธนะศักดิ์ ศรีใส กองหลังที่เคยติดทีมชาติไทยมาแล้ว จาก บีอีซี-เทโรศาสน, วิคเตอร์ คาร์โดโซ ปราการหลังร่างยักษ์จากทีมดังอย่าง เซา เบนโต โดย อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ไต่อันดับขึ้นไปจบฤดูกาลในตำแหน่งรองแชมป์ และคว้ารองแชมป์รอบแชมเปี้ยนส์ ลีก ขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ

 

หลังประสบความสำเร็จในฤดูกาลแรก อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ยังคงขึ้นมาสร้างชื่อในดิวิชั่น 1 ทั้งปั้นให้นักเตะอย่าง สิโรจน์ ฉัตรทอง, วิคเตอร์ คาร์โดโซ เป็นที่รู้จักของแฟนบอลทั่วประเทศ โดยฤดูกาลนั้นพวกเขาจบในฐานะรองแชมป์ ได้เลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก 1 ในฤดูกาล 2017 พร้อมกับ ไทยฮอนด้า ลาดกระบัง เอฟซี และ การท่าเรือ เอฟซี

 

สัญญาณร้ายเริ่มปรากฎ

หลังทำสถิติการเลื่อนชั้นปีต่อปี โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี จากลีกล่างสุดของสยาม อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ได้เวลาเผชิญโลกกว้างบนลีกสูงสุด พร้อมย้ายสนามจากทุ่งบูรพา มาสู่ ยูเอ็มที สเตเดียม ซึ่งเป็นรังเหย้าใหม่ของตัวเองภายใน มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น 

 

พวกเขาต้องเผชิญทั้งคู่แข่งขันที่แข็งแกร่ง และปัญหานอกสนามอย่างการจัดการเรื่องแฟนบอล ข้อพิพาทค่าแรงกับนักเตะ ที่เริ่มผุดขึ้นมา แต่ยังสามารถอยู่รอดบนลีกแห่งนั้นต่อไปได้เช่นเดียวกับ การท่าเรือ เอฟซี ด้วยอันดับตารางคะแนนที่ใกล้เคียงกัน คือ 10 และ 9 ขณะที่ ไทยฮอนด้า ลาดกระบัง เอฟซี มีอันต้องตกชั้น

 

ในฤดูกาล 2018 อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ออกสตาร์ทภายใต้การคุมทัพของกุนซือใหม่อย่าง มิซู พาเทไลเนน หลัง สกอตต์ คูเปอร์ ออกไปหาความท้าทายใหม่ ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ซูคาโอะ คัมเบะ ในเดือนเมษายน ด้วยผลงานที่ไม่ดีนัก สุดท้ายทีมต้องตกชั้นกลับลงมาสู่ลีกพระรอง คือ ไทยลีก 2(ดิวิชั่น 1 เดิม)

 

ในลีกพระรอง สโมสรฯได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อุบล ยูไนเต็ด โดยไร้ "ยูเอ็มที" พร้อมปรับโครงสร้างสโมสรพอสมควร โดยเฉพาะการที่คนใกล้ตัวอย่าง จินธัช จินารัตน์ เข้ามารับหน้าที่ประธานสโมสรคนใหม่ แทนที่ ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ธนเดช ศรีโภคิน รับหน้าที่รองประธานสโมสร และรักษาการตำแหน่งประธานสโมสรในภายหลัง, กวินทร์วัฒน์ เรือนบุรี ผู้บริหารของผลิตภัณฑ์กีฬา "ไอแอม สปอร์ต" รับหน้าที่ผู้อำนวยการสโมสร ขณะที่เฮดโค้ชเป็น เอดูอาร์โด อัลเมดา

 

จากปัญหาพิพาทค่าแรงที่เผชิญมาเป็นระยะๆ หลังจบฤดูกาลมรสุมระลอกใหญ่ก็ก่อตัวขึ้นเมื่อ ซูคาโอะ คัมเบะ พร้อมทีมงานสตาฟฟ์ นักเตะ จำนวนมาก ได้ยื่นร้องเรียนต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และสมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ถึงค่าตอบแทนที่ไม่ได้รับตามตกลง โดยปัญหายืดเยื้อมาจน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยต้องแจ้งด่วนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ให้รีบชำระเงินภายในวันดังกล่าว มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์แข่งขัน

 

อย่างไรก็ตาม สโมสรฯ สามารถจบปัญหานี้ลงได้ทัน แต่เพียง 5 นัดหลังเปิดฤดูกาล 2019 เอดูอาร์โด อัลเมดา ก็ได้แยกทางกับอุบล ยูไนต็ด โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจส่วนตัวที่บ้านเกิด ซึ่งได้ ธนเสฏฐ์ อมรสินกิตติโชติ กุนซือเลือดอุบลฯ เข้ามาคุมทัพแทน ถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์สโมสรฯ และปรากฎชื่อ กรเอก สารฤทธิ์ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีม ก่อนจะเปลี่ยนไปมา ทั้ง กวินทร์วัฒน์ เรือนบุรี, ธนเดช ศรีโภคิน 

 

ในช่วงเดือนสิงหาคม ธนเสฏฐ์ อมรสินกิตติโชติ ได้โบกมือลาทีมไปอีกราย ทำให้ต้องดันผู้ช่วยอย่าง สุริยัน แจ่มแจ้ง ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการ และท้ายที่สุดได้ ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย ที่เพิ่งลาออกจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มาคุมทัพ ในสถานการณ์ที่กำลังหนีตายสุดชีวิต

 

เกมสุดท้ายของฤดูกาล พวกเขาไปเยือน เกษตรศาสตร์ เอฟซี ด้วยโจทย์ที่ต้องชนะสถานเดียวเท่านั้นเพื่อความอยู่รอด แต่ก็ทำไม่สำเร็จ พ่าย 1-2 ต้องตกชั้นลงสู่ ไทยลีก 3 และเผชิญปัญหาค่าแรงอีกครั้งหลังมีการฟ้องร้องไปถึง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า) ก่อนจะถูกปรับตกชั้นลงสู่ ไทยลีก 4 ในเวลาต่อมา เมื่อไม่สามารถเคลียร์ได้ทัน

 

 

จากหนึ่งถึงศูนย์

ไม่เพียงเท่านั้น 10 มกราคม 2563 กรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมฯ ยืนยันผ่านสื่อว่า อุบล ยูไนเต็ด หมดสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน ไทยลีก 4 ฤดูกาล 2020 เนื่องจากไม่ผ่านคลับไลเซนซิ่ง เรื่องไฟแนนเชียล ต้องตกชั้นลงไปเล่นลีกสมัครเล่น(ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก) ทำให้สิ้นสถานะการเป็นสโมสรฟุตบอลระดับลีกอาชีพทันที ปิดฉากการผจญภัย 5 ฤดูกาล

 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริหารยังมีความตั้งใจที่จะสู้ต่อไป พวกเขายังคงสามารถส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่อย่าง ช้าง เอฟเอ คัพ 2020 ได้ เช่นเดียวกับทีมอื่น ๆ และลุ้นคว้าตั๋วกลับขึ้นมาสู่บันไดขั้นแรกของลีกอาชีพได้ในฤดูกาล 2021 ด้วยเวที ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก

 

- สถิติสโมสร -

ผู้เล่นทำประตูสูงสุด : ดาร์ริล โรเบิร์ต(2015-2016) 40 ประตู

ชนะมากที่สุด : เกมพบ มุกดาหาร ลำโขง(ดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2015) ชนะ 10-0

แพ้มากที่สุด : เกมพบ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด(ไทยลีก 1 ฤดูกาล 2017) แพ้ 0-4