• 20 กุมภาพันธ์ 2019 at 13:04
  • 588
  • 0

สมาคมฟุตบอลฯ พบตัวแทน เอเอฟซี เตรียมจัดศึกชิงแชมป์เอเชียรุ่น 23 ปี รอบสุดท้าย พร้อมพาเช็กความพร้อม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ การกีฬาแห่งประเทศไทยฯ การกีฬาแห่งประเทศไทยฯและ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประชุมร่วมกับสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) ที่เดินทางมาตรวจสภาพความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ( AFC U-23 Championship 2020 Finals )

 

ภายในการประชุม เจ้าหน้าที่ฝั่งไทย นำโดย พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย คุณ กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ, คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และ รองโฆษกสมาคมฯ, คุณ วิษณุ ไล่ชะพิษ รองผู้ว่าการฝ่ายส่งเสริมกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, คุณ ชาญยุทธ วัจนสวัสดิ์ หัวหน้างานแข่งขันกีฬาภูมิภาค, คุณ ชาตรี สินสนอง หัวหน้างานศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ภาค 3

 

สำหรับเจ้าหน้าที่ เอเอฟซี ที่เดินทางมาครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ยู จิน โฮ ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), เชลตัน กูลการนิ ฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์, เชง ยิง ได ฝ่ายจัดการแข่งขัน (ทีมชาติ), คูมาราซัน ชันดราน ฝ่ายการตลาดและพาณิชย์, โมฮาหมัด ราซากีดิน บิน ราซาลลี ฝ่ายบริการทั่วไป, ฟาดฮิล อัซรี บิน อิสมาอิล ฝ่ายออกแบบสนาม 

 

การประชุมในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1. การนำคณะตรวจสอบสถานที่จัดการแข่งขันและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับนานาชาติ ตรวจสอบและแนะนำการปรับปรุงสถานที่จัดการแข่งขัน

2. สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ นำเสนอรูปแบบและข้อมูลการจัดการแข่งขัน ก่อนนำคณะตรวจสอบสถานที่จัดการแข่งขัน

3. กำหนดการตรวจสอบสถานที่จัดการแข่งขันและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย 

4. การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย สำหรับการจัดการแข่งขัน

5. การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับการจัดการแข่งขัน

 

พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า "ในวันนี้ทาง สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ได้เดินทางมาตรวจสนามที่เราเสนอสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี โดยจะมีการตรวจทั้งหมด 6 สนามด้วยกัน คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่, สนามบางกอกกล๊าส สเตเดียม(ลีโอ สเตเดี้ยม), สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา, สนามเมืองทอง สเตเดียม(เอสซีจี สเตเดี้ยม) และ สนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต” 

 

“หลังจากตรวจสอบความพร้อมแล้ว ท้ายที่สุดจะมีการใช้ 4 สนาม เพื่อจัดการแข่งขัน นอกจากที่ทางเจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะมาตรวจสอบให้ตรงตามข้อกำหนดแล้ว ยังมาให้ความรู้ในเรื่องของการตลาด การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารตลอดจนการทำงานร่วมกัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้เรียนรู้ตรงนี้" 

 

"โอกาสต่อไปก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทางสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชียวชาญ เกี่ยวกับการประสานงาน เพื่อให้การทำงานของทุกฝ่ายออกมาราบรื่น และบรรลุเป้าหมายที่สุด" 

 

"ทั้งหลาย ทั้งปวง ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะไม่สามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้การแข่งขันครั้งนี้เกิดขึ้น" 

 

"นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้รับเกียรติในการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ดังนั้น สนามทุกสนามต้องตรงตามข้อกำหนดของ เอเอฟซี โดยตามนโยบายของผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย จะมีการปรับปรุงสนามในหลายๆ แห่ง ทางผมเองก็ได้กราบเรียนท่านผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้รอทาง เอเอฟซี มาให้ความรู้ก่อน เพื่อได้ปรับปรุงให้ตรงตามข้อกำหนดจะได้ตรงตามเป้าหมาย และบรรลุตามเป้าหมายสูงสุด ซึ่งทางผู้ว่าฯ ก็ยินดี ต้องขอบคุณทางการกีฬาแห่งประเทศไทย และเอเอฟซี ครับ"

 

สำหรับสนามที่ทาง เจ้าหน้าที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะเดินทางมาตรวจมีทั้งหมด 6 สนามแข่งขัน และสนามซ้อม จำนวน 10 สนาม ดังนี้

 

สนามที่เสนอสำหรับการจัดการแข่งขัน จำนวน 6 สนาม จะคัดเลือกเหลือ 4 สนาม

1.สนามราชมังคลากีฬาสถาน (กรุงเทพฯ) ความจุ 48,000 ที่นั่ง มีห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 2,100 LUX

2.สนามกีฬาสมโภช 700 ปี (เชียงใหม่) ความจุ 25,000 ที่นั่ง มีห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 1,800 LUX

3.สนามเมืองทอง สเตเดียม (นนทบุรี) ความจุ 15,000 ที่นั่ง ห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 1,600 LUX

4. สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และสนามซ้อมด้านข้าง (นครราชสีมา) ความจุ 25,000 ที่นั่ง มีห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 1,800 LUX

5. สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปทุมธานี) ความจุ 22,000 ที่นั่ง มีห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 1,800 LUX

6. สนาม บางกอกกล๊าส สเตเดียม (ปทุมธานี) ความจุ 13,000 ที่นั่ง มีห้องแต่งตัว 4 ห้อง และไฟส่องสว่าง 18,000 LUX

 

สนามซ้อม จำนวน 10 สนาม

1. สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (เชียงใหม่)

2. สนามซ้อมของสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (นนทบุรี)

3. สนามกีฬาจังหวัดนนทบุรี (นนทบุรี)

4. สนามอินทรีจันทรสถิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน (กรุงเทพฯ)

5. สนามบุณยะจินดา (กรุงเทพฯ)

6. สนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยสุรนารี (นครราชสีมา)

7. สนามกีฬากองทัพบก (กรุงเทพฯ)

8. สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง (กรุงเทพฯ)

9. สนามฟุตบอลภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (กรุงเทพฯ)

10. สนามยามาโอกะ (ปทุมธานี)

 

สำหรับ กฏ ระเบียบ ของประเทศเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ของ เอเอฟซี มีดังนี้

 

กฏ ระเบียบ ของสนามแข่งขัน ที่ต้องมี 

1. จำนวนสนามแข่งขัน 3-4 สนาม และสนามฝึกซ้อม ไม่น้อยกว่า 8 สนาม

2. ความสว่างของไฟ ไม่น้อยกว่า 1,800 LUX

3. สภาพสนามต้องมีความสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

4. ความจุไม่น้อยกว่า 10,000 ที่นั่ง พร้อมติดตั้งเก้าอี้ครบถ้วน

5. มีจอ LED ขนาดใหญ่

6. มีพื้นที่รับรอง VIP และ VVIP รวมกันไม่น้อยกว่า 50 ที่นั่ง

7. ห้องพักนักกีฬาไม่น้อยกว่า 4 ห้อง

8. ห้องอาบน้ำไม่น้อยกว่า 4 ห้อง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

9. ห้องสุขา ไม่น้อยกว่า 4 ห้อง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

10. โถสำหรับผู้ชายปัสสาวะ ไม่น้อยกว่า 4 ชุด ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

11. มีที่นั่งภายในห้องแต่งตัวนักกีฬา ไม่น้อยกว่า 30 ที่นั่ง ต่อ 1 ห้องแต่งตัว

12. มีเตียงนวด และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ และกระดานวางแผน

13. มีห้องอำนวยความสะดวก และห้องอเนกประสงค์ อาทิ ห้องพักผู้ตัดสิน, ห้องตรวจสารกระตุ้น, ห้องพยาบาล, ห้องทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่เอเอฟซี, ห้องเด็กเก็บบอล, ห้องเก็บของ, ห้องทำงานสื่อ, ห้องแถลงข่าว, มิกซ์โซน

14. การติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

15. ที่นั่งของผู้ควบคุมการแข่งขัน และผู้ประเมินผู้ตัดสิน ต้องอยู่บริเวณกึ่งกลางสนาม และสามารถเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดได้

16. ที่นั่งสำหรับผู้วิเคราะห์การแข่งขัน สามารถนั่งได้อย่างน้อยสองคน พร้อมมีระบบไฟฟ้า

 

กฏ ระเบียบ ของสนามฝึกซ้อม ที่ต้องมี

1. ต้องติดตั้งระบบไฟส่องสว่างไม่น้อยกว่า 500 LUX

2. มีห้องอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องแต่งตัว

3. ต้องมีประตูสำรอง, ประตูที่สามารถเคลื่อนย้ายได้

4. ต้องเป็นสนามแบบปิด

5. ต้องมีสนามซ้อมสำหรับผู้ตัดสิน โดยมีขนาดมาตรฐาน และลู่วิ่งสำหรับทดสอบสมรรถภาพ

 

โรงแรมที่พัก ที่ต้องมี

1. โรงแรมที่พักสำหรับ เจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะต้องมีระดับ 4-5 ดาว อยู่ไม่ห่างจากสนามบินเกิน 100 กิโลเมตร และต้องเดินทางสะดวกในการไปยังโรงแรมที่พักของทีม ขณะที่สนามแข่งขัน และสนามฝึกซ้อม จะต้องเดินทางไม่เกิน 30 นาทีจากที่พัก

2. โรงแรมของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องมีระดับ 4-5 ดาว และต้องเดินทางถึงสนามซ้อมได้ภายใน 30 นาที

3. โรงแรมที่พัก จะต้องสามารถทำอาหารระดับนานาชาติ และมีอาหารฮาลาล

4. โรงแรมที่พัก จะต้องมีห้องฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, ห้องประชุม และพอเพียงกับจำนวนทีมที่เข้าพัก