นักกีฬา-ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทีมในไทยลีก 1-2 เข้ารับการตรวจโควิด-19 ก่อนไทยลีกคัมแบ็ค 12 ก.ย. นี้

 

 

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ผู้ตัดสิน ผู้ประเมินผู้ตัดสิน นักกีฬาจากสโมสรต่างๆ รวมทั้งบุคลากรฟุตบอลอาชีพ เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้การแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพที่จะกลับมาแข่งขันต่อนัดที่ 5 ในวันที่ 12 กันยายนนี้ สอดคล้องกับนโยบาย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามมาตรการผ่อนปรนกิจการ และ กิจกรรมด้านการกีฬาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

การตรวจหาเชื้อดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการตรวจเชื้อให้กับสโมสรสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด 

 

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะทำการตรวจระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2563 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำจังหวัด 15 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, นนทบุรี (กระทรวงสาธารณสุข) , ชลบุรี, อุดรธานี , อุบลราชธานี, นครสวรรค์ , สมุทรสงคราม , ขอนแก่น, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี , สงขลา , ภูเก็ต และ ตรัง โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 (เชียงใหม่) ประกอบด้วย เชียงใหม่ ยูไนเต็ด, เชียงใหม่ เอฟซี, ลำปาง เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 105 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 (เชียงราย) ประกอบด้วย สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด จำนวนโดยประมาณ 37 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 (พิษณุโลก)  ประกอบด้วย สุโขทัย เอฟซี, แพร่ ยูไนเต็ด จำนวนโดยประมาณ 72 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 (นครสวรรค์) ประกอบด้วย ชัยนาท ฮอร์นบิล จำนวนโดยประมาณ 35 คน

 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (นนทบุรี) ประกอบด้วย ผู้ตัดสิน, ผู้ประเมินผู้ตัดสิน, สุพรรณบุรี เอฟซี, การท่าเรือ เอฟซี, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, เอ็มโอเอฟ ศุลกากร ยูไนเต็ด, เกษตรศาสตร์ เอฟซี, อุทัยธานี เอฟซี, อยุธยา ยูไนเต็ด จำนวนโดยประมาณ 488 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 (สมุทรสงคราม) ประกอบด้วย ราชบุรี มิตรผล เอฟซี, นครปฐม ยูไนเต็ด, ไทยยูเนี่ยน สมุทรสาคร เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 107 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 (ชลบุรี) ประกอบด้วย ชลบุรี เอฟซี, สมุทรปราการ ซิตี้, ระยอง เอฟซี, ราชนาวี, ตราด เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 179 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 (ขอนแก่น) ประกอบด้วย ขอนแก่น ยูไนเต็ด, ขอนแก่น เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 70 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 (อุดรธานี) ประกอบด้วย หนองบัว พิชญ เอฟซี, อุดรธานี เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 70 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 (นครราชสีมา) ประกอบด้วย นครราชสีมา  มาสด้า เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 37 คน

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 (อุบลราชธานี) ประกอบด้วย ศรีสะเกษ เอฟซี จำนวนโดยประมาณ 35 คน

 

อนึ่ง สำหรับสโมสรที่ไม่มีรายชื่อเข้ารับการตรวจกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำจังหวัด 15 แห่งทั่วประเทศ จะต้องส่งใบรับรองแพทย์มายังฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ภายในวันที่ 11 กันยายน 2563 โดยผลตรวจต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อนับจากวันที่ส่งใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้ หากนักกีฬาหรือบุคลากรที่มีผลการตรวจพบว่าไม่ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด -19 จะไม่มีสิทธิ์ลงทำการแข่งขันจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19